การทำงาน ของ สุรเชษฐ์ หักพาล

เริ่มต้นรับราชการตำรวจ

ร.ต.ต. สุรเชษฐ์ ในขณะนั้น เริ่มรับราชการตำรวจในตำแหน่งรองสารวัตร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 จนได้รับการแต่งตั้งเลื่อนขั้นเป็นสารวัตรในกองวินัย ต่อมาเป็นสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 จนได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 และเป็นผู้ช่วยนายเวรตำรวจราชสำนักประจำให้กับ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547[9][10]

ระดับผู้กำกับการ

หลังจากได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพันตำรวจเอก พันตำรวจเอก สุรเชษฐ์ ในขณะนั้น ได้รับตำแหน่งผู้กำกับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่อำนวยการประจำผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[10] จนกระทั่งวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552 จึงได้เป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์[9] ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ได้เป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555 ถูกส่งไปเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จนได้เลื่อนขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา[10] และทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการณ์ตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาส่วนหน้า รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาที่เป็น 'พื้นที่สีแดง' เสี่ยงต่อภัยความไม่สงบบริเวณชายแดนภาคใต้[2]

ระดับผู้บังคับการและผู้บัญชาการ

ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 พันตำรวจเอก สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพลตำรวจตรี ในตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[11][12]ทำหน้าที่ประสานงานกับนายกรัฐมนตรี รายงานต่อ พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากในทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557[10][2] ในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ได้เป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว[13]จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ได้เป็นผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ[14]จนกระทั่งวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560 เข้ามาทำหน้าที่รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว จนได้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560[15]จนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 พลตำรวจตรี สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพลตำรวจโท และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง[16][17]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

คำสั่งย้าย

ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีคำสั่งจาก พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย จนวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีคำสั่งจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ขาดจากตำแหน่งหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทนักบริหารระดับสูง ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี[9][10] และให้ถูกเพิ่มรายชื่อในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2558 เพื่อได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เนื่องด้วยมีมูลกรณี เมื่อถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ทำให้เสียหายแก่ทางราชการหรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน[18]

ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2563 รถยนต์ส่วนตัวของ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ถูกยิง ณ บริเวณถนนสุรวงศ์ เขตบางรัก กทม. โดยในขณะนั้น พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ไม่ได้อยู่ภายในรถ[19] โดย พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ รวมถึงสื่อหลายแห่งได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์นี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับกรณีที่ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับความผิดปกติในโครงการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจสอบและพิสูจน์อัตลักษณ์และโครงการจัดซื้อจัดจ้างรถตรวจการณ์ไฟฟ้าของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยกล่าวหาว่าบริษัทผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามกำหนด แต่ สตช. ตรวจรับงานไว้ก่อน ทำให้ผู้รับจ้างไม่ต้องเสียค่าปรับ[20][21][22] ในขณะอีกส่วนหนึ่งก็ตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นการจัดฉากโดย พล.ต.ท. สุรเชษฐ์เอง[23]

ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563 ได้มีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาจรรยาและวินัยข้าราชการ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าคำสั่งนี้ออกมาเนื่องจากมีการร้องเรียน จึงต้องเตือนไว้ก่อน[24]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สุรเชษฐ์ หักพาล http://www.komchadluek.net/news/crime/368151 http://www.thairath.co.th/content/1540676 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/B/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/B/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/B/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/...